รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


ตำนานแคว้นพะเยา หรือ นครรัฐพะเยา

  • 0 ตอบ
  • 1679 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 661
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
ตำนานแคว้นพะเยา หรือ นครรัฐพะเยา
« เมื่อ: มีนาคม 24, 2020, 01:51:26 PM »
ตำนานแคว้นพะเยา หรือ นครรัฐพะเยา เป็นนครรัฐอิสระ ในจังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ใกล้น้ำแม่อิงซึ่งไหลลงมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นอาณาจักรร่วมสมัยเดียวกับยุคปลายของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน

แคว้นพะเยาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชกาลพญางำเมือง เคยขยายอำนาจปกครองนครรัฐน่านระยะหนึ่ง ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย แต่ภายหลังในช่วงปี พ.ศ. 1877-1879 พะเยาถูกผนวกเข้ากับล้านนาในสมัยพญาคำฟูที่เข้าปล้นพะเยาจากความร่วมมือของนครรัฐน่าน

แคว้นพะเยา เกิดจากการขยายตัวของราชวงศ์ลาวที่แยกตัวออกมาเพื่อสร้างเมืองใหม่ สันนิษฐานว่าประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพญาลาวเงินแห่งเมืองเงินยางได้ส่งเจ้าราชบุตรนามขุนจอมธรรมสร้างเมืองพะเยาและปกครองในฐานะนครรัฐอิสระไม่ขึ้นกับใคร มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองเงินยางในฐานะญาติและพันธมิตร

แคว้นพะเยา เริ่มมีบทบาทโดดเด่นขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 19 กษัตริย์นามพญางำเมือง กษัตริย์พระองค์ที่เก้า เป็นพระสหายของพ่อขุนรามคำแหง และพญามังราย ทั้งสามพระองค์ได้ร่วมมือกันทำสัญญาสามกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1830 เพื่อต่อต้านการขยายตัวของจักรวรรดิมองโกล ทั้งที่ก่อนหน้านี้พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพะเยาในปี พ.ศ. 1819 ซึ่งไม่ได้รบกันแต่กลับเจรจากัน สรัสวดี อ๋องสกุลได้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะ "...ความเป็นสหายและความเข้มแข็งของพญางำเมืองในขณะนั้นเป็นอุปสรรคต่อการยึดเมืองพะเยา"[1] ด้วยความเข้มแข็งดังกล่าวพญางำเมืองได้ขยายอำนาจและยึดครองนครรัฐน่านโดยส่งพระชายาและราชบุตรไปปกครอง ถือเป็นยุคที่พะเยาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด

หลังสิ้นรัชกาลพญางำเมือง ท้าวคำแดงพระโอรสได้ครองเมืองสืบต่อ ยังคงสัมพันธ์อันดีกับล้านนา และเคยช่วยพญาไชยสงครามปราบกบฏขุนเครือ และหลังจากการปราบกบฏก็ได้ขอนางแก้วพอตาธิดาพญาไชยสงครามให้เสกสมรสกับท้าวคำลือ พระราชโอรสซึ่งเป็นกษัตริย์พะเยาองค์สุดท้าย ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี มองว่าการมาของนางแก้วพอตาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พะเยาเสียเอกราชเพราะในปี พ.ศ. 1877-1879 พญาคำฟูแห่งล้านนาทรงประสบความสำเร็จในการปล้นเมืองพะเยาจากความร่วมมือของนครรัฐน่าน และอาจได้รับการสนับสนุนจากนางแก้วพอตาที่เป็นพระปิตุจฉาพญาคำฟู[8] อันเป็นการดีต่อล้านนาที่เมืองเชียงรายและเชียงแสนจะปลอดภัยจากการโจมตีของพะเยา และตั้งเมืองพะเยาเป็นฐานอำนาจที่จะขยายลงไปสู่นครรัฐแพร่และน่านต่อไป

หลังสิ้นเอกราช เมืองพะเยาปรากฏความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของล้านนาในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เพราะได้ส่งขุนนางที่มีฐานะเป็นอา ช่วยเหลือให้พระองค์ครองราชย์มาปกครองพะเยา และตอบแทนความชอบด้วยการกำหนดตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยาเป็น "เจ้าสี่หมื่น" และในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงให้ความชอบแก่พระยายุทธิษฐิระ อดีตเจ้าเมืองสองแควผู้มาสวามิภักดิ์ให้การยกให้ครองพะเยา แต่กาลต่อมาเมือล้านนาได้ยึดครองนครรัฐแพร่และน่านแล้ว เมืองพะเยาจึงถูกลดบทบาทลง

ประชากร

ด้วยความที่พะเยาเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองเงินยางที่ขยายลงมายังที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา เป็นดินแดนที่เรียกว่า "โยนก" มีประชากรเป็น ไทยวน ด้านการตั้งถิ่นฐานจะกระจายตามแอ่งหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแนวยาวตามลำน้ำอิง[10] เมื่อขุนจอมธรรมตั้งเมืองพะเยา ได้รวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองต่าง ๆ ได้ 80,000 คน แบ่งเป็น 36 พันนา นาละ 500 คน ชุมชนที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นชุมชนเล็ก ๆ แยกกันอยู่เป็นแห่ง ๆ มีผู้นำชุมชนในนามของเจ้าผู้ปกครอง การตั้งชุมชนบ้านและเมืองได้พัฒนาจากถิ่นฐานที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า ผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เจริญกว่า นอกจากนี้ประชากรบางส่วนเป็นชาวกาว โดยเฉพาะที่เมืองงาวที่อยู่ใกล้กับนครรัฐน่านที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน

ทั้งนี้แคว้นพะเยาแต่เดิมนับถือผี ต่อมาพญางำเมืองได้มีศรัทธารับคติพุทธศาสนาจากหริภุญชัยมาประดิษฐานในแคว้น หลังการรับพุทธศาสนาจึงมีการสร้างพระพุทธรูปหินทรายและศาสนาวัตถุอื่น ๆ กษัตริย์ทรงนับถือศาสนาพุทธ และตั้งพระองค์ตามหลักทศพิศราชธรรม
ภูมิศาสตร์

จากการขยายตัวของราชวงศ์ลาวที่ขยายตัวลงมาตามที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา ทั้งนี้ตัวเมืองพะเยาตั้งอยู่บนลุ่มน้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา เป็นที่ราบปลายภูเขาที่มีชื่อเรียกตามตำนานว่า "ภูยาว" ต่อมาได้กลายเป็นคำว่า "พยาว" และเป็น "พะเยา" ที่ตั้งเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำสองแหล่งคือ น้ำแม่อิงและกว๊านพะเยา และเป็นที่ราบกว้างใหญ่เหมาะสมแก่การตั้งเมือง

เมื่อขุนจอมธรรมมาตั้งเมืองพะเยา เวียงแห่งแรกมีผังเมืองเป็นรูปน้ำเต้าเรียก "เวียงน้ำเต้า" ต่อมาในสมัยพญาสิงหราชได้มีการขยายชุมชนออกมาทางกว๊านพะเยาเพราะใกล้แหล่งน้ำเป็นเวียงรูปสี่เหลี่ยมเรียก "เวียงลูกตะวันตก" และถือว่าเวียงทั้งสองเป็นเวียงแฝด ทั้งยังเป็นเวียงหลักของพะเยา นอกจากนี้ยังมีเวียงบริวาร ได้แก่ เวียงพระธาตุจอมทอง, เวียงปู่ล่าม, เวียงหนองหวี และเวียงต๋อม

แต่อย่างไรก็ตามแคว้นพะเยามีข้อจำกัดด้านที่ตั้ง เพราะแวดล้อมไปด้วยเขาสูง พะเยาจึงเป็นเมืองเล็กและค่อนข้างปิด มีเพียงทางตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถติดต่อกับเมืองเชียงของและเชียงรายได้สะดวก ส่วนทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาสูงติดกับอำเภอวังเหนือ ด้านใต้ต่ออำเภองาวด้วยเขาสูง ส่วนตะวันออกติดกับนครรัฐน่านที่เต็มไปด้วยขุนเขาเช่นกัน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้นครรัฐแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองเพียงช่วงแรก ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนาในกาลต่อมา

โดยแคว้นพะเยา ปกครองเมืองต่าง ๆ ดังนี้

ทิศตะวันออก จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้กิ่วฤๅษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นาค
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อแดนขรนคร
ทิศตะวันตก โป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้กิ่วรุหลาว ดอกจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แจ้ห่ม
ทิศใต้ จรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แคว้นเงินยาง
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญางำเมือง และพญามังราย ตามลำดับ

แคว้นพะเยามีความสัมพันธ์กับแคว้นเงินยางด้วยมีปฐมกษัตริย์มาจากเมืองเงินยางดังกล่าว การดำเนินการระหว่างสองรัฐจึงเป็นเป็นในฐานะเครือญาติ เมื่อมีศึกสงครามทั้งสองรัฐก็จะช่วยกันปกป้องบ้านเมือง เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงขุนเจืองครองเมืองพะเยาได้ไปช่วยเมืองเงินยางปราบแกว หลังจากทำสงครามไล่แกวแล้ว ขุนเจืองจึงขึ้นครองเมืองเงินยางสืบมา หรือกรณีของพระชายาของพญางำเมืองคือ นางอั้วเชียงแสน จากชื่อแสดงให้เห็นว่า นางอั้วเป็นธิดาจากเมืองเชียงแสน นั่นคือพะเยาและเงินยางมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แนบแน่นผ่านการเสกสมรส ด้วยเหตุนี้แคว้นเงินยางจึงเป็นทั้งพระสหายและพระประยูรญาติสนิทสืบเนื่องหลายชั่วอายุคน

อาณาจักรล้านนา

พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพญามังรายแห่งล้านนา โดยใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ระบุว่า พญางำเมืองกับพญามังรายเป็นสหายกันมาแต่รุ่นปู่ การเป็นพระสหายของสามกษัตริย์ทำให้เกิดการป้องกันภัยจากการรุกรานของมองโกล ด้วยการทำสนธิสัญญาสามกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1830 ทั้งที่ก่อนหน้านี้พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพะเยาในปี พ.ศ. 1819 ซึ่งไม่ได้รบกันแต่กลับมีการเจรจากัน

แม้พะเยาและล้านนาจะมีการเสกสมรสเพื่อสร้างความสัมพันธ์เครือญาติกัน ดังกรณีของนางแก้วพอตาธิดาพญาไชยสงครามกับท้าวคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพะเยา แต่พะเยาก็ถูกล้านนาหักหลังในสมัยพญาคำฟูที่ได้รับความร่วมมือกับนครรัฐน่าน และหลังจากนั้น
เป็นต้นมาพะเยาจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนามาแต่นั้น

อาณาจักรสุโขทัย — พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ด้วยทรงศึกษาที่เมืองละโว้ร่วมรุ่นกัน ทั้งมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติด้วยพระราชธิดาในพญางำเมืองเสกสมรสกับบุคคลชนชั้นปกครองของสุโขทัย ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีเสนอว่าคือพระยาเลอไทย
มีพระราชโอรสด้วยกันคือ พ่องำเมือง

นครรัฐน่าน — เคยถูกพญางำเมืองยึดครอง พร้อมกับส่งพระชายาและพระราชบุตรปกครองอยู่หลายปี แต่ได้อิสระในหลายปีต่อมา และภายหลังได้ร่วมมือกับล้านนาปล้นเมืองพะเยาจนเป็นสาเหตุให้แคว้นพะเยาสลายตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา

แคว้นหริภุญชัย — เผยแผ่ศาสนาพุทธมายังแคว้นพะเยาจนเป็นที่แพร่หลายในรัชกาลพญางำเมือง

แป้หม่าเก่า Ancient Phrae # อนุรักษ์ สืบสาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เมืองแพร่
https://www.facebook.com/Ancient.Phrae
No History no Future

ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/แคว้นพะเยา
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้