รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


9 ธันวาคม วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

  • 0 ตอบ
  • 3252 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 665
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
9 ธันวาคม วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า "เจ้าน้อย" และในพระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เมื่อเวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ที่ตั้งของ "ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม) เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับแม่เจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว และโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง

เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง
ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "ราชวงศ์จักรี" เป็นกรณีพิเศษ (ปล. แม่เจ้าเทพไกรสร พระมารดาได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปในปี 2426 นี้เอง) คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง 20 ปี

จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา (เจ้าแก้วนวรัฐประสูติแต่หม่อมเขียวในพระเจ้าอินทวิชยานนท์) จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา

ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยในการรักษาพระอาการและโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากประเทศอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด

พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เป็นเกียรติยศ

การพระราชทานเพลิงพระศพ
เมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญน้ำพระสุคนธ์พระราชทานไปสรงพระศพ เชิญพระโกศไปประกอบพร้อมด้วยเครื่องสำหรับพระอิสริยยส ประดิษฐานพระศพไว้ที่คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว และโปรดให้ช่างหลวงปลูกเมรุสำหรับพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดสวนดอก และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสด็จแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และทรงเป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477 เชิญพระศพสู่พระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ ออกจากคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ไปตามถนนวิชยานนท์ ถนนราชวงศ์ ถนนช้างม่อย ถนนราชวิถี ถนนพระปกเกล้า ถนนอินทวโรรสและถนนสุเทพ เข้าสู่วัดสวนดอก เวลา 17 นาฬิกา พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้แทนพระองค์เสด็จประทับ ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก และเสด็จขึ้นพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2477 เวลาเช้า พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงทอดผ้าไตรสามหาบของหลวง พระสงฆ์สดับปกรณ์ พนักงานประมวลพระอัฎฐิลงในพระโกศทองคำ ตั้งเหนือพานทอง 2 ชั้น เชิญจากพระเมรุไปประดิษฐานบนม้าหมู่ในวิหารหลวง แล้วประเคนภัตาหารสามหาบแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ฉันเสร็จ ถวายอนุโมทนา เป็นเสร็จการ

ในการนี้จัดให้มีบัญชีสามหาบ ประกอบด้วย สำรับที่ 1 หม่อมราชวงศ์แถวธวัช ศรีธวัช (ผ้าไตร) นายถวิล ดารากร ณ อยุธยา (หาบ) สำรับที่ 2 หม่อมราชวงศ์จิระเดช กฤดากร (ผ้าไตร) นายร้อยตำรวจโท ขุนนครอุปการ (หาบ) สำรับที่ 3 หม่อมหลวงเจิม สุริยกุล (ผ้าไตร) นายชิน มาลากุล ณ อยุธยา (หาบ)

CR.รูปภาพ
3 ศิลป์รัตนโกสินทร์ , วิกิพีเดีย
ขอขอบคุณเพจ ครูบาอาจารย์สายเมืองล้านนา
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้