แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


Topics - ฮักล้านนา

หน้า: [1] 2 ... 43
1
ขบวนช้างเดินบนถนนดิน หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2477 ไฟฟ้าพึ่งมีใช้ 2 ปีในเขตเมือง
อาคารฝั่งขวา คือ แบงก์สยามกัมมาจล ที่พึ่งเปิดได้ 7 ปี เปิด ข้างๆ โรงแรมรถไฟเชียงใหม่

ปี 2470 ภาคเหนือขาดแคลนเงินบาท ประชาชนต้องใช้เงินรูปี เป็นส่วนใหญ่ ธนาคารสยามกัมมาจล จึงไปเปิดสาขาที่ จ.เชียงใหม่

ปี 2482 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์

ภาพถ่ายเมื่อปีค.ศ. 1935 (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๗๘)
Photographer: Arnold Heim
Image Source: ETH-Bibliothek, Switzerland

ข้อมูลจากเพจเชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น

2
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2482

ขอขอบคุณเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

3
เจ้านายเมืองน่าน

(เรียงจากซ้ายไปขวา)

1 เจ้าราชวงศ์ นครเมืองน่าน (เจ้าสุทธิสาร ณ น่าน) เป็นพระโอรสองค์ที่ 8 ในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ประสูติแต่แม่เจ้ายอดหล้าอัครราชเทวี (พระชายาที่ 1)

2 เจ้าราชภาคิไนย นครเมืองน่าน (เจ้ามหาวงศ์ ณ น่าน) เป็นพระโอรสองค์ที่ 11 ในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ประสูติแต่แม่เจ้ายอดหล้าอัครราชเทวี (พระชายาที่ 1)

3 เจ้าราชบุตร นครเมืองน่าน (เจ้าอนุรศรังษี ณ น่าน) เป็นพระโอรสองค์ที่ 1 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 ประสูติแต่แม่เจ้าสุคันธาเทวี

4 เจ้าราชดนัย นครเมืองน่าน (เจ้ายอดฟ้า ณ น่าน) เป็นพระโอรสองค์ที่ 12 ในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ประสูติแต่แม่เจ้ายอดหล้าอัครราชเทวี (พระชายาที่ 1)

5 เจ้าบุรีรัตน์ นครเมืองน่าน (เจ้ายศ ณ น่าน) เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ประสูติแต่แม่เจ้ายอดหล้าอัครราชเทวี (พระชายาที่ 1)

#ขอขอบพระคุณภาพ / ข้อมูล
Cr.ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
Cr. ฮักล้านนา
: Yoong Ja
: ย้อนอดีตด้วยภาพ
: กลุ่มภาพเก่าในอดีตที่มีคุณค่า

4
คลิกเข้าชม : https://www.youtube.com/watch?v=B3UGh-gccAY

ร่มเย็นเป็นสุขศิลป์แบบล้านนา | Spirit of Asia | 3 ก.ค. 65

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในเมืองเอกแห่งศิลปะ ศิลปวัฒนธรรมอันกลมกลืนระหว่างความเก่าและใหม่ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของผู้คนและวัฒนธรรม ในช่วงยุคสมัยชาวพม่าเข้าปกครองล้านนา นำพาเอาภูมิปัญญาจากต่างถิ่นนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนกันในท้องถิ่น ทำให้งานหัตถกรรมท้องถิ่นมีความลุ่มลึกและยังคงสะท้อนความคิด ค่านิยม และอุดมการณ์ของผู้คนในอดีตส่งต่อมาจนปัจจุบัน

ติดตามเรื่องราวได้ใน Spirit of Asia ตอน ร่มเย็นเป็นสุขศิลป์แบบล้านนา วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 16.30 - 17.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมออนไลน์ทาง http://www.thaipbs.or.th/Live และสามารถรับชมภาคภาษาอังกฤษได้ทาง youtube : thaipbs 

5
<a href="http://www.youtube.com/watch?v=RxSrpw0beII" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=RxSrpw0beII</a>

ดูได้ที่ Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=RxSrpw0beII

ดอยนางแก้ว หรือนางแก้วองค์หลวง ตำนานล้านนา ตำนานดอยนางแก้ว หรือนางแก้วองค์หลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสองจังหวัด เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่ยังไม่มีการตัดถนนเส้นเชียงใหม่ - เชียงราย และการเซ่นสังเวยดวงวิญญาณของนางแก้วที่สูญหายไปแล้ว

ขอขอบคุณ Youtube : อ้ายทีขี้เล่า

6
พลัว วรนคร ปัว

ปัวเริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของ พญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง "วรนคร" ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง "วรนคร" ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร มีพระโอรส 1 พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า "เจ้าเก้าเกื่อน" ต่อมาไม่นานักพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือ นางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร (เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน

ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือ พญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัวทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า "เจ้าขุนใส" ปรากฏว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ 16 ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น "พญาผานอง" เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็น เมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฏชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1

พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ 30 ปี มีโอรส 6 คน คนแรกชื่อ เจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อ เจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ 3 ปี ก็ถึงแก่พิราลัยไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญ เจ้าการเมือง ขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย

ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลและได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า "เวียงภูเพียงแช่แห้ง" เมือปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

7
โบราณสถานเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา เวียงลอ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่มีอายุมากกว่า ๙๐๐ ปี ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งในภาคเหนือ

ในเขตโบราณสถานเวียงลอ พบซากกำแพงเมืองเก่า พระธาตุ วัดเก่าแก่และวัดร้างอยู่มากมาย มีการค้นพบแนวกำแพงเมือง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปค่อนข้างกลม แนวกำแพงเมืองเป็นคันดินไม่สูงนัก บางส่วนมีร่องรอยการก่ออิฐเสริมเข้าไปด้วย คูเมืองส่วนใหญ่ตื้นเขิน ภายในตัวเมืองมีบ่อน้ำกรุอิฐจำนวนมาก แต่เดิม เวียงลอ มีวัดร้างกว่า ๕๐ วัด ตามวัดร้างพบพระพุทธรูปหินทรายและพระพุทธรูปทองสำริดจำนวนมาก แต่ถูกทำลายลงไปเกือบหมด พบพระธาตุเจดีย์เก่าแก่ที่สำคัญ ที่วัดพระธาตุหนองห้า เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนลาดชายเนินเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงคล้ายพระธาตุเจดีย์วัดลีที่ตั้งอยู่ในเมืองพะเยา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ พบหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกที่วัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดร้างในเวียงลอ ข้อความในจารึกกล่าวถึงเจ้าหมื่นล่อเทพศรีจุฬาสร้างวัดใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๐ ถวายเป็นพระราชกุศลแก่มหาเทวีเจ้าและพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และกล่าวถึงอาณาเขตวัดนี้ให้อยู่ในพื้นที่ตะวันออกจรดฝั่งแม่น้ำด้านใต้จรดคูเมืองชั้นนอก ด้านตะวันตกออกห่างไปร้อยวา ด้านเหนือจรดคูเมืองและด้านท้ายของจารึกยังบอกว่า ผู้ใดมาครองเมืองลอต่อไป ขอให้บำรุงพระพุทธศาสนาและวัดใหม่นี้สืบไปอย่าได้ทำลาย ความในศิลาจารึกกล่าวชี้ให้เห็นว่า เวียงลอ เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมือง กำแพงเมืองล้อมรอบอย่างน้อยสองชั้นและชื่อเมืองลอ ก็เป็นชื่อเรียกกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในสมัยล้านนา เวียงลอเป็นเมืองสำคัญอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองเชียงแสน เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองพะเยา เมืองน่าน และล้านช้าง

จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใต้ชั้นคันดินกำแพงเมืองพบหลุมฝังศพก่อนประวัติศาสตร์อายุราว ๑,๕oo-๒,ooo ปี หรือสมัยก่อนล้านนา แสดงให้เห็นว่าก่อนการสร้างเวียงลอ พื้นที่นี้มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว เวียงลอปรากฎในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าที่สุดใน ปี พ.ศ. ๑๖๖๙ ในช่วงเหตุการณ์ที่ขุนเจืองยกทัพไปช่วยขุนชินสู้รบที่นครหิรัญเงินยางเชียงแสน ต่อมาเวียงลอถูกผนวกเข้ากับล้านนาในสมัยพญาคำฟูแห่งเชียงใหม่ โดยราชสำนักเชียงใหม่ได้ส่ง “หมื่นลอ” มาปกครองเมือง
เวียงลอ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร พบโบราณสถานภายในเวียงกว่า ๑๐ แห่ง นอกเวียง ๓๓ แห่ง ปัจจุบันโบราณสถานเวียงลอที่ได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะไปแล้วทั้งสิ้น ๑๖ แห่ง คือ

๑. วัดศรีปิงเมือง

๒. วัดพระเจ้าเข้ากาด

๓. วัดมะม่วงแก้มแดง

๔. วัดพระธาตุหนองห้า

๕. กู่พระแก้ว

๖. วัดพระธาตุบุนนาค

๗. วัดเวียงป่าสัก

๘. วัดท่าแฉะ

๙. กู่ล้อมธาตุ

๑๐. วัดกู่บวกกู่

๑๑. กู่หนองผำ

๑๒. วัดศรีชุม

๑๓. กู่เกือกม้า

๑๔. วัดสารภี

๑๕. กู่ขะจ้าว

๑๖. โบราณสถานใกล้วัดศรีปิงเมือง

ข้อมูลจากเพจ พะเยาบ้านฉัน

8
ชาวบ้านกำลังต้อนฝูงควายผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า

ศาลากลางจังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อเป็นที่ทำงานของหน่วยงานรัฐบาลและข้าหลวงเมืองเชียงราย ตามนโยบายการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลสยาม เป็นศาลากลางที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ บริกส์ มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดเชียงราย

ศาลากลางหลังแรกจังหวัดเชียงราย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูน เป็นอาคาร ๓ ชั้น มีขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๗ เมตร การก่อสร้างเป็นรูปแบบศิลปะโคโลเนียล เป็นอาคารเก่าหลังคาทรงปั้นหยา ประดับด้วยมุขหน้าต่างหลังคา มีมุขหัวท้ายยื่นมาเล็กน้อย ซึ่งมีจุดเด่นของอาคาร คือก่ออิฐเป็นรูปโค้ง (Arch) ช่องเปิดที่ระเบียงอาคารด้านล่างทำเป็น โครงสร้างคานโค้งครึ่งวงกลม ๓ ชุดโค้งต่อเนื่อง และมีโถงทางเดินที่เชื่อมถึงโดยตลอดด้านหน้าชั้นที่ ๑

ศาลากลางดังกล่าวปัจจุบันไม่ได้เปิดทำการ เนื่องจากกำลังปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพเชียงราย โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย แต่ถือเป็นจุดสำคัญที่สะท้อนอดีตของเมืองเชียงรายที่ได้รับอิทธิพลจะตะวักตกเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดสรรเมือง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

1. จักรพันธ์ ม่วงคราม. (2555). สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในเมืองเชียงรายภายใต้บทบาทของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน.วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

2. อภิชิต ศิริชัย. (2558). หนังสือที่ระลึกเนื่องในวโรกาส 777 ปี ชาตกาลพระญามังรายหลวง. สำนักพิมพ์ล้อล้านนา.เชียงราย

9
ภาพอดีตประตูหัวเวียง หรือปัจจุบันเรียกว่า ประตูช้างเผือก เชียงใหม่เมืองหลวงของล้านนาในอดีต ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งชาวต่างชาติถ่ายภาพเอาไว้

10
สถานีรถไฟเชียงใหม่ พ.ศ.2494

น่าจะเป็นภาพถ่ายยุคแรกๆ ของอาคารหลังนี้ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไม่นาน ทดแทนอาคารหลังแรกที่ถูกระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2486

ผมถ่ายก๊อปปี้มาจากนิตยสารเก่าเล่มหนึ่ง(ผลิตปี 2494) เมื่อ 11 ปีที่แล้ว

11
สี่แยก ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่
สมัยยังเป็น สี่แยกไฟแดง ยุค80s  ภาพเมื่อ 46 ปีก่อน
เดิมกำแพงบริเวณนี้ ตบแต่งเหมือนประตูเมืองเชียงใหม่
 ด้านอื่นในปัจจุบัน และ เป็นสวนสาธารณะ พักผ่อน
จุดนัดพบของชาวเมือง เชียงใหม่
รถสี่ล้อรับส่งผู้โดยสาร ยังไม่แยกสี
ค่ารถเก็บคนละ 2 บาท ในตัวเมือง
รถยี่ห้อมาสด้า คนนิยมมากที่สุด
ตึกสูงกลางภาพเป็น โรงแรมมนตรี
ดาดฟ้ามีป้ายโฆษณาเบียร์ อมฤต
หลังโรงแรม มีปั้มน้ำมัน เชลล์
 ยุคนั้น ยามค่ำก็จะมีโรงภาพยนตร์
และ เป็น ตำนานย่านโลกีย์
ก่อนปรับภูมิทัศน์เป็น ลานประตูท่าแพ
สร้างประตูท่าแพใหม่ในอีก 7 ปีต่อมา

ภาพถ่าย เมื่อปี พ.ศ. 2521
เครดิต :: Rick Silverman นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก

12
สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก ของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยนายแพทย์แมเรียน เอ ชีค หรือ หมอชีค มิชชันนารีชาวอเมริกันที่ผันตัวเองไปทำกิจการป่าไม้ สะพานดังกล่าวเป็นสะพานขนาดใหญ่ ทำจากไม้สัก เชื่อมระหว่างแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกบริเวณด้านหลังวัดเกตการามกับฝั่งตะวันตกใกล้ตลาดต้นลำไย เรียกชื่อกันว่า ขัวกุลา ต่อมามีการสร้างสะพานไม้แห่งใหม่ขึ้น เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งที่ ๒ ของเมืองเชียงใหม่ (บริเวณสะพานนวรัฐในปัจจุบัน) จึงเรียกสะพานนี้ว่า ขัวเก่า สะพานแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองพายัพ

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ช่วงฤดูน้ำหลาก ขัวกุลาหรือขัวเก่าถูกไม้ซุงจำนวนมากที่ล่องไปตามแม่น้ำปิงกระแทกเข้ากับเสาตอม่อสะพาน ทำให้สะพานเอียงทรุดเสียหาย ต่อมาจึงต้องรื้อทิ้ง ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำปิงได้รับความยากลำบากในการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ไม่สามารถใช้เรือข้ามได้ การเดินทางข้ามแม่น้ำปิงต้องไปข้ามที่สะพานอีกแห่งที่อยู่ห่างออกไป คือ สะพานนวรัฐ ทางราชการแก้ปัญหาด้วยการสร้างสะพานชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ชาวบ้านเรียกว่า ขัวแตะ แต่ถึงฤดูน้ำหลากก็จะถูกน้ำพัดพังไป จึงทำให้ต้องสร้างขัวแตะขึ้นใหม่ทุกปี

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ โมตีราม หรือนายมนตรี โกสลาภิรมณ์ ได้บริจาคเงินให้เทศบาลเชียงใหม่ รวมทั้งมีการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับการก่อสร้างสะพานถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านและเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยาชื่อจันทร์สม เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์” ชาวบ้านเรียกกันว่า ขัวแขก
สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงสำหรับคนเดินข้าม มีการสัญจรไปมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สะพานชำรุด เทศบาลนครเชียงใหม่จึงจัดสรรงบประมาณสร้างสะพานใหม่ทดแทน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๑๐ เมตร และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นมา

✅ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์
นักจดหมายเหตุชำนาญการ
✅ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย

13
เจ้าแก้วนวรัฐกับครอบครัว ถ่ายที่คุ้มหลวงริมปิง
น่าจะถ่าย พ.ศ.2477 คือปีที่เจ้าแก้วนวรัฐมีอายุครบ 6 รอบ ปัจจุบันบริเวณของคุ้มคือตลาดนวรัฐ
เชื่อว่าคงมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่รู้จักบุคคลในภาพไม่ครบทุกท่าน ผมขอกล่าวชื่อของแต่ละท่านและความสัมพันธ์กับเจ้าแก้วนวรัฐ เพื่อให้สมาชิกเข้าใจได้ง่าย ผมขออนุญาตไม่ใช้คำราชาศัพท์นะครับ
เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
# แถวบน
1.เจ้าเมืองชื่นหรือเจ้าราชภาคินัย(สามีเจ้าบัวทิพย์) - ลูกเขย
2.เจ้าอินทนนท์ - ลูกชาย
3.เจ้าวงษ์ตะวันหรือเจ้าราชบุตร - ลูกชาย
4.เจ้าพงษ์อินทร์ - ลูกชาย
5.เจ้ากาวิละวงศ์(สามีเจ้าศิริประกาย) - ลูกเขย
# แถวกลาง
1.เจ้าสุคันธา(ภรรยาเจ้าอินทนนท์)และบุตร - ลูกสะใภ้และหลาน
2.เจ้าบัวทิพย์ - ลูกสาว
3.เจ้าแก้วนวรัฐ
4.เจ้าศิริประกาย - ลูกสาว
5.เจ้าภัทรา(ภรรยาเจ้าวงษ์ตะวัน) - ลูกสะใภ้
# แถวล่าง
1.เจ้าพงษ์กาวิล(บุตรเจ้าศิริประกายและเจ้ากาวิละวงศ์) - หลาน
2.เจ้าศิริกาวิล(บุตรีเจ้าศิริประกายและเจ้ากาวิละวงศ์) - หลาน
3.เจ้าวงศ์จันทร์(บุตรีเจ้าวงษ์ตะวันกับเจ้าจันทร)และบุตร - หลานและเหลน
4.เจ้าระวีพันธ์ุ(บุตรีเจ้าวงษ์ตะวันกับเจ้าภัทรา) - หลาน

จาก ... หนังสือ "อดีตลานนา"
ของ คุณลุงบุญเสริม สาตราภัย และ คุณสังคีต จันทนะโพธิ

14
เจ้าเมืองเวียงป่าเป้า พญาขันธ์ และ เจ้าแม่คำปวน
เคยเห็นแต่ อนุสาวรีย์ไม่คิดว่าจะมีภาพถ่าย
ลูกค้าตระกูล ธนะชัยขันธ์ ส่งภาพเก่ามาทำสี
เป็นรูปถ่ายอายุ 104 ปีก่อน ของ
พญาขันธเสมบดี หรือ พญาขันธ์
เจ้าปกครองเมืองเวียงป่าเป้าคนสุดท้าย
ต้นตระกูล ธนะชัยขันธ์

ภาพถ่ายเมื่อ
28 พฤศจิกายน 2463

ภาพ พญาขันธเสมบดี หรือ พญาขันธ์
ท่านเป็นลูกเขยคนเล็กของพญาไชยวงค์
มีภรรยาชื่อ แม่เจ้าคำปวน
ต้นตระกูลธนะชัยขันธ์
มีบุตรธิดาด้วยกัน ๗ คน
คือ ๑.แม่เจ้าเหมย ๒.เม่เจ้าเขียว-หมัด ๓.แม่เจ้าบุญปั๋น ๔.พ่อเจ้าน้อยมหาอินทร์ ๕.แม่เจ้าต่อมคำ ๖.พ่อเจ้าหน้อยคำตั๋น ๗.พ่อเจ้าน้อยหน่อเมือง

ประจำทุกวันที่ ๙ มกราคมของทุกปี
จะมีประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศล
แก่อนุสาวรีย์พ่อหลักเมืองเวียงป่าเป้า
และ เหล่าบริวาร
อนุสาวรีย์พญาขันธเสมาบดี
หรือ พญาขันธ์ ตั้งอยู่ในบริเวณ
อนุสาวรีย์พ่อหลักเมืองเวียงป่าเป้า
หมู่ที่ ๒ บ้านในเวียง ตำบลเวียง
อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ขอบคุณภาพ Som Thanachaikan
เพจ เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น

15
คุ้มเจ้าเมืองเชียงของ เมื่อ 100 ปีก่อน
ภาพถ่ายในปี พ.ศ.2467 คุ้มสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคากระเบื้องดินขอ ใต้ถุนสูงจนช้างลอดได้
ที่ตั้งเดิมคือด้านทิศตะวันตกถนนสายกลาง
(ตรงข้ามทางลงท่าผาถ่าน) บ้านวัดหลวง

รองอำมาตย์เอก พระยาจิตวงษ์วระยศรังษี
เจ้าเมืองเชียงของ คนสุดท้าย,
เจ้าจิตวงษ์ (ต้นตระกูล จิตตางกูร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามสกุลเมื่อ 25 กันยายน พ.ศ.2457)

สนับสนุนโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
ขอบคุณภาพจาก
ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงของ
สภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงของ

แต่งสีโดย #เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น

หน้า: [1] 2 ... 43